ประวัติความเป็นมา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานพระพุทธมหาลาภ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังจากได้ทรงรับทราบปัญหาอุปสรรคบางประการที่เกิดขึ้นบนพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา " ด้วยทรงพระเมตตาหาใดเปรียบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระพุทธรูปส่วนพระองค์ นามว่า “พระพุทธมหาลาภ” เป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย นำมาซึ่งความเป็นสวัสดิมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขแก่บรรดาคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลตลอดมา พระพุทธมหาลาภเป็นพระพุทธรูปโบราณทรงเครื่องแบบกษัตริย์ หงายพระหัตถ์ในลักษณะของปางฉันสมอ หรือ พระไภษัชยคุรุ (ในนิกายมหายาน) ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน ผู้ศรัทธาบูชาจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหาลาภ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและมอบครุยวิทยฐานะแก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2534


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สักการะ “พระพุทธมหาลาภ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ปัจจุบันพระพุทธมหาลาภประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์โดยถ้วนหน้าว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานหนัก อุทิศพระวรกายอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยได้ทรงหยุดพัก ทรงทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย บัดนี้ ในโอกาสที่พระองค์จะทรงมีพระชนมายุครบ 65 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2563 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ จัดสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 65 นิ้ว และหอพระเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปถวายเป็นพระราชกุศล โดยนำต้นแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อสื่อความหมายโดยนัย ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยแข็งแรง และมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน

พระราชทานนาม “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” และ “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์”

แบบจำลองพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ

แบบจำลองหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามพระพุทธรูปที่จะจัดสร้างนี้ ว่า “พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ” ซึ่งหมายถึง “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ นอกจากนั้น ยังพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างหอพระเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอำนวยการของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พระราชทานนามว่า “หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์” (ตามสร้อยพระนามาภิไธย) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่หน้าบันของหอพระเพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไป

สนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างองค์พระและหอพระ โดย มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษาฯ ในพิธีเปิดอาคารศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563